วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

การวิเคราะห์และออกแบบการใช้สื่อตามหลักของ ASSURE Model

การวิเคราะห์และออกแบบการใช้สื่อตามหลักของ ASSURE Model

               ในการใช้สื่อการสอนนั้น ผู้สอนควรจะมีการวางแผนการใช้สื่ออย่างรัดกุม และเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฎิบัติ ซึ่งจะทำให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจในการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุด ตามความสามารถของแต่ละบุคคล และตรงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ การวางแผนการใช้สื่อการสอนโดยใช้แนวคิดของ วิธีระบบ เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้การวางแผนการใช้สื่อการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ " The ASSURE Model" เป็นแบบจำลองที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้ เพื่อวางแผนการใช้สื่อการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
               Heinich, Molenda and Russell (1985)  ได้เสนอโมเดลการวางแผนการใช้สื่อการเรียนการสอน เรียกว่า ASSURE Model  ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจที่จะใช้สื่อการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้สูงสุดตามความสามารถของแต่ละคน  รายละเอียดของโมเดลมีดังนี้
                 Image result for assure model คือ
  



     😃 A : Analyze Learner Characteristic วิเคราะห์ผู้เรียน



               การวิเคราะห์ผู้เรียนจะทำให้ผู้สอนเข้าใจลักษณะของผู้เรียนและสามารถเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน การวิเคราะห์ผู้เรียนนั้นจะวิเคราะห์ใน 2 ลักษณะ คือ
               1. ลักษณะทั่วไป  เป็นลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน  แต่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนโดยตรง  ได้แก่ เพศ อายุ ชั้นปีที่เรียน ระดับสติปัญญา ความถนัด วัฒนธรรมสังคม  ฯลฯ
               2. ลักษณะเฉพาะ  เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกวิธีการสอนและสื่อการเรียนการสอน  ได้แก่
     2.1 ความรู้และทักษะพื้นฐานของผู้เรียนในเนื้อหาที่จะสอน
     2.2 ทักษะที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของผู้เรียน  เช่น ทักษะด้านภาษา  คณิตศาสตร์ การอ่าน  และการใช้เหตุผล
     2.3 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จะสอนนั้นหรือยัง 

   😃 S : Stat Objective  กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนการสอน
นนน

               การเรียนการสอนแต่ละครั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน  ซึ่งควรจะเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม  ที่กำหนดความสามารถของผู้เรียนว่าจะทำอะไรได้บ้าง  ในระดับใด  และภายใต้เงื่อนไขใดไว้อย่างชัดเจน  เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธีการสอนและสื่อการเรียนการสอนได้เหมาะสม วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดขึ้นสำหรับการเรียนการสอนแต่ละครั้ง  ควรให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน  คือ  ด้านพุทธิพิสัย  ด้านจิตพิสัย  และด้านทักษะพิสัย  โดยจะเน้นวัตถุประสงค์ด้านใดมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่สอนแต่ละครั้งไป

😃 S : Select, Modify or Design Materials  เลือก ปรับปรุง ออกแบบสื่อการสอน

1.  การเลือกสื่อการเรียนการสอน 
               ขั้นตอนนี้เป็นการพิจารณาเลือกสื่อการเรียนการสอน  ที่มีอยู่แล้วจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน  การเลือกสื่อที่มีอยู่แล้วควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้  คือ  ลักษณะผู้เรียน  วัตถุประสงค์การเรียนการสอน  เทคนิคหรือวิธีการเรียนการสอน และสภาพการณ์และข้อจำกัดในการใช้สื่อการเรียนการสอนแต่ละชนิด
2. การปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน
               ในกรณีที่สื่อการเรียนที่มีอยู่แล้วไม่เหมาะสมกับการใช้ในการเรียนการสอน  ให้พิจารณาว่าสามารถนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอนได้หรือไม่  ถ้าปรับปรุงได้ก็ให้ปรับปรุงก่อนนำไปใช้
3. การออกแบบสื่อการเรียนการสอน
               กรณีที่สื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ได้  หรือไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับปรุงใช้ หรือไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่ต้องการใช้ในแหล่งบริการสื่อการเรียนการสอนใดเลย  ก็จำเป็นต้องออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่  การออกแบบก็ต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
        🔺วัตถุประสงค์     :    ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความรู้ เจตคติและทักษะใด
       🔺ผู้เรียน              :    มีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้หรือไม่
       🔺ราคา                :    มีงบประมาณในการผลิตมากน้อยเพียงใด
       🔺ฝ่ายเทคนิค      :    มีหรือไม่ในการผลิต
       🔺อุปกรณ์           :    มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตหรือไม่     
       🔺 เวลา               :    มีเวลาเพียงพอในการผลิตหรือไม่

   😃 U : Utilize Materials    ใช้สื่อการเรียนการสอน
   
      
ขั้นตอนการใช้สื่อการเรียนการสอน  มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ
🔻1. ทดลองใช้
               ก่อนนำสื่อการเรียนการสอนใดมาใช้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจสอบและทดลองใช้ดูว่ามีปัญหาหรือไม่  ถ้ามีจะได้แก้ไขปรับปรุงได้ทัน  คุณลักษณะของสื่อ  วิธีการนำเสนอสื่อ
🔻2. เตรียมสภาพแวดล้อม

               การที่จะใช้สื่อการเรียนการสอนจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมสถานที่  สิ่งอำนวยความสะดวก  แสง  การระบายอากาศ  และอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้สื่อการสอนแต่ละชนิด
🔻3.   เตรียมผู้เรียน
                ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้สื่อการเรียนการสอนได้ดีนั้น  จะต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้น   โดย การแนะนำสิ่งที่จะนำเสนอ  อาจจะเป็นเรื่องย่อ  สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น  การเร้าความสนใจ  หรือเน้นจุดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ  ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการฟังหรือดูสิ่งที่ผู้สอนนำเสนออันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีได้        
🔻4.   การนำเสนอ
             ผู้สอนที่ทำหน้าที่ผู้เสนอสื่อการเรียนการสอนนั้น  จะต้องใช้เทคนิคการนำเสนอที่เรียกว่า  AV Showmanship  ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
                     4.1  ต้องทำตัวเป็นตัวกลางที่จะทำให้การนำเสนอครั้งนั้นประสบความสำเร็จ  โดยการทำตัวให้เป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสมที่ติดเป็นนิสัย  เช่น  หักนิ้ว  บิดข้อมือ  กดปากกา  พูดเสียง เอ้อ………อ้า…… เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจท่าทางเหล่านี้แทน
                    4.2  ท่าทางการยืน  ต้องยืนหันหน้าให้ผู้เรียน  ถ้ายืนเฉียงก็ต้องหันหน้าหาผู้เรียนไม่ควรหันข้างหรือหันหลังให้ผู้เรียน
         4.3 ขณะที่บรรยายนำเสนอสื่อการเรียนการสอนต้องสอดแทรกอารมณ์ขันบ้าง
                    4.4 ประเมินความสนใจของผู้เรียน  โดยใช้การกวาดสายตามองผู้เรียนให้ทั่วทั้งชั้น ซึ่งเป็นการแสดงความสนใจผู้เรียน และวิเคราะห์สีหน้า  ท่าทางของผู้เรียนไปพร้อมกัน
         4.5  อย่าใช้เวลาเตรียมสื่อนานเกินไป  จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย
         4.6 นำเสนอให้ถูกวิธีตามที่ได้มีการทดลองใช้มาก่อนแล้ว
             

   😃 R : Require Learner Response  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม

   


              การใช้สื่อในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง  ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนให้มากที่สุด  และในขณะเดียวกันผู้สอนก็ต้องมีการเสริมแรงไปพร้อม ๆ กันด้วย  เช่น  หลังจากการนำเสนอสื่อแล้ว อาจให้ผู้เรียนร่วมอภิปราย  ทำแบบฝึกหัด  ทำบทเรียนโปรแกรมหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับวิธีการสอนและสื่อการสอนที่ใช้ในแต่ละครั้ง


😃 E : Evaluation  ประเมินผลกระบวนการเรียนการสอน

               หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว
  จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้สอนทราบว่า  การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด  สิ่งที่ต้องประเมินได้แก่  

               😆การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน  ว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด  
               😆การประเมินสื่อและวิธีการเรียนการสอน  เพื่อให้ทราบว่าสื่อและวิธีการสอนที่ใช้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด  ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่  ช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือไม่ การประเมินผลสื่อการเรียนการสอนควรให้ครอบคลุม  ด้านความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอน  ด้านคุณภาพของสื่อ  เช่น ขนาด รูปร่าง สี ความชัดเจนของสื่อ
               😆การประเมินผลกระบวนการเรียนการสอน  จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการสอนและการใช้สื่อการเรียนในครั้งต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการออกแบบการใช้สื่อตามหลักของ ASSURE Model บูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง การย่อยอาหาร


📗1. วิเคราะห์ผู้เรียน(Analyze Learner Characteristic)

          ลักษณะทั่วไปของผู้เรียน  
               นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 6 โรงเรียนก่องข้าวน้อย มีนักเรียนทั้งหมด 42 คน เป็นนักเรียนหญิง 22 คน นักเรียนชาย 20 คน
           ลักษณะเฉพาะของผู้เรียน 
               1.ความรู้พื้นฐาน : ผู้เรียนทราบว่าสิ่งมีชีวิตต้องมีการย่อยอาหารเพื่อที่จะนำสารอาหารที่ได้ไปใช้ในการดำรงชีวิต
               2.ประสบการณ์เดิม : ผู้เรียนได้เรียนเรื่องการย่อยอาหารในจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและสัตว์

📕 2. กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนการสอน (Stat Objective)

              1.นักเรียนสามารถบอกอวัยวะและโครงสร้างที่ใช้ในการย่อยอาหารของคนได้
              2.นักเรียนสามารถอธิบายทางเดินอาหารของคนได้ 
              3.นักเรียนสามารถอธิบายกระบวนการย่อยอาหารของคนได้
              4.นักเรียนสามารถเปรียบเทียบกระบวนการย่อยอาหารของจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว สัตว์ และคนได้ 
              5.นักเรียนมีความรับผิดชอบ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม 
              6.นักเรียนมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลา 

📙3. เลือกสื่อการสอน (Select, Modify or Design Materials)

 🌍 วิดีโอ เรื่องระบบย่อยอาหารของกระทรวงศึกษาธิการ


🌎 วิดีโอ เรื่องระบบย่อยอาหารของสสวท.



📘 Utilize Materials    ใช้สื่อการเรียนการสอน

🔻1. ทดลองใช้
ก่อนนำสื่อการเรียนการสอนมาใช้จะต้องมีการตรวจสอบและทดลองใช้ดูว่ามีปัญหาหรือไม่  เนื้อครบถ้วนหรือไม่ มีส่วนไหนบกพร่องจะได้นำมาแก้ไข ก่อนที่จะนำไปใช้จริง
🔻2. เตรียมสภาพแวดล้อม
การที่จะใช้สื่อการเรียนการสอนจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ในการจะเปิดให้ผู้เรียนดูสื่อ 
🔻3.   เตรียมผู้เรียน
                     เตรียมผู้เรียนโดยการสอบถามความรู้ ความเข้าใจเดิม ก่อนที่จะสอน เพื่อที่นักเรียนจะได้เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ได้
🔻4.   การนำเสนอ
ผู้สอนที่ทำหน้าที่ผู้เสนอสื่อการเรียนการสอนนั้นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ปล่อยให้ผู้เรียนรอนาน และไม่ควรทำให้บรรยากาศการเรียนเครียดจนเกินไป ผู้สอนจะต้องคอยบรรยายเพิ่มเติมจากสื่อด้วย เพื่อเพิ่มเติมความเข้าใจของผู้เรียน และในขณะที่เปิดสื่อผู้สอนควรมองดูผู้เรียนด้วย ว่าให้ความสนใจกับสื่อการสอนหรือไม่และหลังจากการดูสื่อการสอน ผู้สอนควรถามความรู้หลังดูสื่อการสอน เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนได้ตั้งใจดูหรือไม่

📕4.ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม(Require Learner Response)

ผู้สอนให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการตอบคำถามหรือการอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน โดยการที่นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนจะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อที่จะให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในชั้นเรียนผู้สอนจะต้องมีความกระตุ้นหรือสร้างความสนใจให้กับพวกเขา เพื่อที่จะให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และในชั้นเรียนผู้สอนควรหากิจกรรมต่างๆเพื่อที่ผู้เรียนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ และควรมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนสนใจและไม่รู้สึกเบื่อ

📘5. ประเมินผลกระบวนการเรียนการสอน(Evaluation)

                 การประเมินผลเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำงหลังการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อที่จะประเมินผู้เรียนว่าเมื่อเรียนไปแล้วนักเรียนได้รับความรู้และมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด
     ➤การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
                 - ประเมินจากการถามตอบหรือให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน เพื่อดูถึงความเข้าใจจากการเรียนรู้
                  - ประเมินจากแบบทดสอบให้ทำหลังเรียน เพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนแต่ละคนว่ามีความเข้าใจในเรื่องที่เรียนหรือไม่
     การประเมินสื่อและวิธีการเรียนการสอน
               เป็นการประเมินโดยดูว่าสื่อและวิธีการสอนที่ใช้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีหรือไม่ โดยการประเมินผลสื่อการเรียนการสอนควรให้ครอบคลุม  และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอน  แล้วประเมินดูในด้านของสื่อว่าดูแล้วเข้าใจหรือมีส่วนประกอบไหนบ้างที่บกพร่อง เพื่อที่จะนำไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
      การประเมินผลกระบวนการเรียนการสอน
              1. ประเมินก่อนเรียน โดยแบบทดสอบเพื่อทดสอบความรู้เดิมของผู้เรียน เพื่อที่ครูผู้สอนจะได้ทราบว่าควรเพิ่มเติมความรู้ส่วนไหนบ้าง เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องที่จะสอนได้
              2. ประเมินระหว่างเรียน โดยครูผู้สอนอาจจะใช้วิธีถาม-ตอบกับผู้เรียนและการดูผู้เรียนในหระหว่างเรียนว่ามีความสนใจในการเรียนมากน้อยเพียงไหน
              3. ประเมินหลังเรียน เป็นการประเมินโดยใช้แบบทดสอบ เพื่อทดสอบความรู้หลังจากที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ไป เพื่อที่จะทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้มากน้อยเพียงไหน เพื่อที่จะได้นำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุปละแนวทางการแก้ไขต่อไป


     




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น